แนวทางรักษา “โรคลัมปี สกิน” (Lumpy Skin Disease) โรคติดเชื้อในโค กระบือ

แนวทางการรักษาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) จะเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 มีไข้ โค กระบือ จะซึมไม่กินอาหาร มีไข้อาจมีน้ำตาและน้ำมูกในลูกสัตว์โดยมักจะพบในระยะ 1-2 วันแรกก่อน หรือพร้อมๆ กับการพบว่าสัตว์มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง แต่สัตว์ป่วยบางรายอาจสังเกตไม่พบระยะนี้

ระยะที่ 2 มีตุ่มที่ผิวหนัง โค กระบือ มีต่อมน้ำเหลืองใต้ผิวหนังบวม มีตุ่มแข็งนูนลักษณะคล้ายฝี ขนาดแตกต่างกันที่ผิวหนังทุกชั้นและบางครั้งอาจพบลึกลงไปจนถึงกล้ามเนื้อ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณการติดเชื้อ ความแข็งแรงของสัตว์ และสายพันธุ์ บางตัวพบอาการบวมน้ำที่บริเวณลำคอ สาเหตุจากหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) หรือการกดทับของตุ่มที่ผิวหนังหรือต่อมน้ำเหลืองที่บวม ในลูกสัตว์มักจะแสดงอาการมากกว่าสัตว์โต และอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ สำหรับกระบือจะพบเป็นตุ่มเล็กๆ ซึ่งสังเกตได้ยากเนื่องจากผิวกระบือมีผิวหนังหนา

ระยะที่ 3 ตุ่มที่ผิวหนังแตก โดยเริ่มสังเกตพบมีน้ำเหลืองเยิ้มซึมจากตุ่ม มีสะเก็ดหนา เมื่อตุ่มแตกจะเป็นแผลหลุมมีขอบแผลนูนสูง ซึ่งระยะเวลาการแตกของตุ่มผิวหนังจะไม่พร้อมกัน ระยะที่พบขอบตุ่มสีดำพบได้ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังพบตุ่ม และภายใน 2-3 สัปดาห์จะเกิดเป็นสะเก็ดแผลขึ้น แต่ในบางตัวที่พบกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อาจพบว่าสะเก็ดอยู่ได้นาน 1-2 เดือน

ระยะที่ 4 แผลเริ่มหาย เป็นระยะเริ่มมีการหายของแผล วงแผลจะแคปลงและตื่นขึ้นจนปิดสนิท และสีขนอาจเปลี่ยนไปในช่วงแรก โดยหากสัตว์เข้าสู่ระยะนี้มีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ได้รับเชื้อและแสดงอาการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

สำหรับแนวทางการรักษานั้น เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และการบำรุงร่างกายให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง โดยเน้นวิธีการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในอวัยวะที่มีเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial cell) เช่น บาดแผลที่ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการรักษาจัดเป็นศาสตร์และศิลป์ และขึ้นอยู่กับเวชภัณฑ์ที่มี โดยสรุปแนวทางการรักษามีดังนี้

ระยะที่ 1 มีไข้

  • ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ที่เน้นฤทธิ์ลดไข้ เช่น Dipyrone หรือ Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine
  • ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรงโดยเฉพาะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีดหรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน

ระยะที่ 2 มีตุ่มที่ผิวหนัง

  • ให้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ Flunixin meglumine และอาจพิจารณาให้ร่วมในการรักษากรณีที่ลูกสัตว์ที่แสดงอาการทางเดินหายใจ
  • ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น วิตามิน AD3E แบบฉีด หรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน
  • ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรงโดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่มีเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เช่น AD3E แบบฉีด หรือพิจารณาให้วิตามินและแร่ธาตุแบบกิน

*กรณีลูกโค หรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ บวมที่ลำคอ หายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจพิจารณาเลือกให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin

ระยะที่ 3 ตุ่มที่ผิวหนังแตก

  • ให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างและออกฤทธิ์ได้ดีที่ผิวหนัง เช่น กลุ่ม Penicillin
  • ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงตอมวางไข่ที่แผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ
  • ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เน้นออกฤทธิ์ลดการอักเสบ เช่น Tolfenamic acid หรือ flunixin meglumine กรณีที่ลูกสัตว์มีอาการทางเดินหายใจ อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบ flunixin meglumine (เพื่อช่วยลดผลกระทบจาก endotoxin จากการติดเชื้อแบคทีเรีย)
  • ให้วิตามินเพื่อบำรุงให้สัตว์แข็งแรง โดยเฉพาะอวัยวะเป้าหมายที่มีเซลล์เยื่อบุผิว เช่น AD3E

*กรณีลูกโคหรือโคที่มีอาการทางเดินหายใจ คอบวมหายใจลำบาก และมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจพิจารณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีในระบบทางเดินหายใจ เช่น Cephalosporin

ระยะที่ 4 แผลเริ่มหาย

  • ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่และยาป้องกันแมลงวันตอมวางไข่ที่บริเวณแผล เช่น การใช้ Gentian violet ร่วมกับยาผงโรยแผลป้องกันแมลงวันหรือยาสมุนไพรทากีบ
  • ให้วิตามิน AD3E และในกรณีแม่พันธุ์ที่ใกล้หายแล้วให้แร่ธาตุซิลิเนียม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพของระบบสืบพันธุ์และการทำงานของเม็ดเลือดขาว
วัวติดโรคระบาด "ลัมปีสกิน" ล้มป่วยแล้วกว่า 60 ตัว  เตรียมประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

หมายเหตุ : การรักษาให้พึ่งระวังผลข้างเคียงและฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยาแต่ละชนิด โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDs การใช้ติดต่อกันนานๆ จะก่อให้เกิดความระคายเคืองในทางเดินอาหาร และเป็นอันตรายต่อตับและไต รวมทั้งข้อจำกัดการใช้ Tolfenamic acid ในสัตว์อายุน้อยและไม่ควรใช้ในสัตว์ท้อง และให้มีการงดส่งนมหรือบริโภคตามระยะการตกค้างของยาในเอกสารกำกับยา

ขอบคุณ : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

Leave a Reply