โรคสัตว์ที่ต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน

เมื่อฤดูฝนมาถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หมั่นระวังดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้ดี ขอแนะนำให้ความรู้ลักษณะอาการทั่วไปของสัตว์ป่วยที่เป็นโรคที่พบเสมอๆ ในช่วงต้นฤดูฝน รวมทั้ง วิธีการดูแลในเบื้องต้น ดังนี้

พยาธิใส้เดือน

โรคพยาธิที่สำคัญในโค-กระบือ
ส่วนมากเป็นพยาธิตัวกลม พบในสัตว์ช่วงอายุน้อย เป็นพวกพยาธิไส้เดือนซึ่งติดต่อมาจากแม่ทางสายรกและทางน้ำนม ทำให้อัตราการตายสูง ถ้าอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะมี พวกพยาธิเม็ดตุ่ม พยาธิปากขอ ซึ่งติดจากการกินตัว่อนของพยาธิที่อยู่ตามหญ้าเข้าไป โค กระบือจะผอม โลหิตจาง ท้องเสียเรื้อรัง เติบโตช้า สามารถป้องกันรักษาได้โดยการให้ยาถ่ายพยาธิลูกโคทุกตัวเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ และให้ยาซ้ำเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ ส่วนลูกโค กระบือที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้ถ่ายพยาธิปีละ 2 ครั้ง ยาถ่ายพยาธิที่ใช้ได้ผลดี เช่น ปิปเปอราซิน ซิเตรท ใช้ผสมอาหารหรือละลายน้ำให้กินใน ขนาด 22 กรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม เฟนเบนดาโซล ใช้ผสมอาหารให้กินขนาด 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม มีเบนดาโซล ให้กินขนาด 880 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม อัลเบนดาโซล (11-12%) ให้กินขนาด 10 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักสัตว์ 100 กิโลกรัม เป็นต้น

โรคท้องอืด

โรคท้องอืด (Bloat)
เป็นโรคที่เกิดในสัตว์เคี้ยงเอื้อง เป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในกระเพาะหมักใหญ่ (Rumen) โดยแก๊สที่เกิดขบวนการย่อยจะถูกขับออกช้าหรือไม่ถูกขับออก จึงสะสมอยู่ในกระเพาะเป็นจำนวนมาก ทำให้กระเพาะโป่งขยายใหญ่ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกได้แก่ กินอาหารข้นมากเกินไป แต่ได้รับอาหารหยาบน้อย สาเหตุที่สอง มีวัตถุแปลกปลอมหรืออาหารบางชนิดไปอุดตันบริเวณหลอดอาหาร ทำให้สัตว์เรอเอาแก๊สออกไม่ได้ สาเหตุที่สาม กินพืชหรืออาหารสัตว์ที่มีไนเตรทหรือสารก่อให้เกิดไซยาไนต์ (Phytocyanogenic glycosides) ในปริมาณมาก หลังจากสัตว์กินเข้าไปในร่างกาย จะปลดปล่อยแก๊สไซยาไนด์ (Cyanide; Hydrocyanic acid; HCN) ออกมาทำให้สัตว์ตายเนื่องจากไซยาไนด์ขัดขวางไม่ให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดภาวะเลือดไม่นำออกซิเจน (Tissue Anoxia) โดยที่สัตว์จะแสดงอาการท้องอืดและตายอย่างรวดเร็ว (พืชที่มีสารก่อให้เกิดไซยาไนต์ เช่น มันสำปะหลัง (ใบ หัว) ใบไมยราบหนาม ข้างฟ่าง กะทกรก ฯลฯ ส่วนสารไนเตรทมีมากในต้นไมยราบไร้หนาม) ส่วนสาเหตุที่สี่ คือ กินหญ้าอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายและมีน้ำสะสมเข้าไปมากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการกระวนกระวาย มักหันหน้าไปทางสวาป น้ำลายไหลยืด หายในหอบ หัวใจเต้นเร็ว บริเวณสวาปด้านซ้ายจะโป่งขยายใหญ่ หายใจขัดและตาม เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว วิธีการรักษาโดยที่แก้ไขตามสาเหตุ หรือเจาะสวาปซ้ายให้แก๊สออก โดยรีดผิวหนังให้ตึงแล้วแทงท่อเจาะแก๊ส (Trocar canula) ให้ทะลุกล้ามเนื้อเช้าช่องท้องและผนังกระเพาะหมักใหญ่ (rumen)

อาจลดการเกิดแก๊สด้วยสารต้านฟองอากาศ (Anti-foaming agents) เช่น Mineral oil ( Petroleum oil), dioctyl sodium sulfosuccinate 300-500 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักสัตว์ 450 กิโลกรัมหรืออาจใช้น้ำมันพืชแทน กรณีที่สัตว์กินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรือถ้าเกิดจากการกินอาหารข้นมากเกินไป ให้กรอกโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 กรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม แล้วรีบตามสัตวแพทย์มารักษา แต่ถ้าเกิดจากพิษของยูเรีย ควรกรอกน้ำส้มสายชู หรือน้ำเย็นปริมาณมากๆ

โรคไข้สามวัน

โรคไข้สามวัน
โรคนี้จะพบมากในโคทุกอายุ แต่ลูกโคอายุต่ำกว่า 6 เดือนมักไม่แสดงอาการ และจะพบโคเป็นโรคนี้มากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะต้นฤดูฝน เกิดจากเชื้อไวรัส โคแสดงอาการมีไข้สูงเบื่ออาหาร กล้ามเนื้อสั่น ตัวแข็ง ขาแข็ง ขาเจ็บ ซึม น้ำมูกไหล เป็นอยู่ประมาณ 3 วัน เริ่มจะกินอาหาร ยกเว้นรายที่เป็นมาก จะอ่อนเพลียและนอนหอบไม่ยอมลุก โดยเฉพาะรายที่เจ็บขา ซึ่งจะทำให้มีโรคอื่นแทรกได้ สามารถป้องกันได้โดยการป้องกันแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรคนี้ เมื่อพบโคป่วยเป็นโรคนี้ ควรตามสัตวแพทย์มาทำการรักษาโดยเร็ว โดยเฉพาะรายที่ล้มนอนกับพื้น เพื่อให้สัตว์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป

โรคปากเท้าเปื่อย

โรคปากและเท้าเปื่อย
โรคนี้เกิดขึ้นกับสัตว์กีบคู่โดยเฉพาะโค กระบือ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากเชื้อไวรัส สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีอาการซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปากเหงือก และลิ้น น้ำลายไหลยืด กินอาหารไม่ได้ และเกิดเม็ดตุ่มที่ระหว่างซอกกีบ ไรกีบ ทำให้เจ็บขา เดินกะเผลก สัตว์จะผอม และอัตราการตายสูงในลูกสัตว์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนแล้วแผลจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าพบสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าสัตวแพทย์ในท้องที่โดยเร็ว และป้องกันโรคโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ทั้ง 3 ไทป์ คือ ไทป์โอ เอ และเอเชียวัน โดยในโค กระบือจะฉีดวัคซีนที่อายุ 6 เดือน

โรคคอบวม

โรคเฮโมรายิกเซติกซีเมีย หรือโรคคอบวม
เป็นโรคที่รุนแรงในโค กระบือ ความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น ม้า อูฐ และช้าง อาการที่สำคัญคือ หายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอและหน้าจะบวมแข็ง อัตราการป่วยและตายสูงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีการระบาดมากช่วงต้นและปลายฤดูฝน สัตว์ที่เป็นโรคนี้แบบเฉียบพลัน อาจตายภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง ถ้าแบบเรื้อรัง จะมีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน สัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน ควบคุมป้องกันโรคนี้ได้โดยเมื่อมีสัตว์ป่วยและตายเนื่องจากโรคนี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ในท้องที่โดยเร็ว พร้อมทั้งแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง หลีกเลี่ยงสภาวะที่จะทำให้สัตว์เครียด ทำวัคซินป้องกันโรคให้โค กระบือ ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ทำปีละ 1 ครั้ง

โรคตาอักเสบ

โรคตาอักเสบติดต่อ
โรคนี้จะมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือปรสิต หรือเชื้อรา แพร่โรคโดยแมลงต่างๆ สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการโดยรวม คือ น้ำตาไหล เยื่อบุตามีสีแดง กระจกตาขุ่นขาว หรือมีสีชมพู อาจมีขี้ตาหรือหนองเกรอะกรัง และถ้าเป็นนานๆ จะทำให้ตาบอดได้ วิธีการควบคุม คือ กำจัดแมลงที่มาตอมบริเวณตาที่อยู่ตามคอกที่อยู่อาศัยของสัตว์

ขอขอบคุณ(ที่มา) : กรมปศุสัตว์

Leave a Reply