สารพิษในอาการสัตว์และอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ

สารพิษในอาหารสัตว์

อาหารข้นที่มีข้าวโพด และกากถั่วเป็นส่วนผสม และเก็บรักษาไม่ดี ความชื้นสูง จะมีราบางชนิด เจริญแพร่พันธุ์ปล่อยสารพิษ เช่น เชื้อราแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) ทำให้เกิดสารพิษอะฟลาท็อกซิน ซึ่งทำให้สัตว์ตายได้ หญ้าบางชนิด เช่น หญ้าซอกัม ต้นข้าวฟ่าง ใบมันสำปะหลัง มีสารไฮโดรไซยานิก ทำให้สัตว์ตายได้เช่นกัน สำหรับเชื้อราในเมล็ดถั่ว และข้าวโพด ป้องกันได้โดยการตากเมล็ดที่เก็บเกี่ยวใหม่ให้แห้งดี ก่อนนำไปเก็บ หรือใช้ผสมอาหารสัตว์ ส่วนใบมันสำปะหลัง ควรใช้ใบแห้ง สารพิษจะลดลงไม่เป็นอันตราย

อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ

อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อนี้ บางทีเรียกว่า อัตราการแลกเนื้อ หมายความว่า ในการเจริญเติบโต หรือเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ ๑ กิโลกรัม จะต้องใช้อาหารกี่กิโลกรัม ยิ่งใช้อาหารน้อย แต่ได้เนื้อมาก แสดงว่า อาหารนั้นมีคุณภาพดี ในกรณีสุกรขุน ควรมีอัตราแลกเนื้อ ๑:๒.๕ ในกรณีของไก่ ควรมีประมาณ ๑:๒

ระยะเวลาในการขุนสัตว์ 
ระยะเวลาในการขุนสัตว์ หมายถึง จำนวนวันที่ใช้อาหารเลี้ยงสัตว์ จนสัตว์โตได้น้ำหนักที่ต้องการ เช่น ใช้อาหารสูตรหนึ่งเลี้ยงสุกร ต้องเลี้ยงนานกี่วัน จึงจะได้น้ำหนักสุกร ๙๐ กิโลกรัม น้ำหนัก ๙๐ กิโลกรัม เป็นกำหนดที่สุกรขุนโตได้ที่ สำหรับส่งขายตลาด ถ้าน้ำหนักมากกว่านี้จะเปลืองอาหารมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น อาหารสูตรใดที่ใช้เวลาสั้นกว่า ถือว่า อาหารสูตรนั้นมีคุณภาพดี เช่น การขุนสุกรเพื่อขาย การใช้เวลาขุนเพียง ๑๒๐ วัน จะดีกว่าการขุนนาน ๑๔๐ วันแหล่งข้อมูล
ข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 14 เรื่อง 4 ลิขสิทธิ์เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

Leave a Reply