โรคในโคนั้นมีมากมายหลายสิบโรค แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบางโรคที่พบได้บ่อยๆ ในบ้านเรา และโรคระบาดต่างๆ ที่มีความรุนแรง ในเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้มุ่งหวังจะให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจโรคดังกล่าวได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เพียงแต่ให้สามารถใช้เป็นแนวทางในการทำความรู้จักโรคนั้นๆ รู้จักวิธีการป้องกัน, รู้จักวิธีการแก้ไข และที่สำคัญ คือ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรตามสัตวแพทย์
โรคระบาดในโค โรคต่อไปนี้เป็นโรคที่มีความสำคัญต่อผู้เลี้ยงโคเป็นอย่างมาก เพราะเวลาเกิดการระบาดขึ้นจะทำให้เกิดการสูญเสียทีละมากๆ ไม่ใช่ตัว 2 ตัวเหมือนโรคอื่นๆ ที่สำคัญมี 5 โรคด้วยกัน

1.โรคกาลี (โรคแอนแทรกซ์)
โรคกาลีนี้บางแห่งก็เรียกว่า “โรคแอนแทรกซ์” จัดเป็นโรคที่ร้ายแรง เพราะนอกจากจะเกิดกับสัตว์เลี้ยงแล้ว
โรคนี้ก็ยังติดต่อมาถึงคนได้ เชื้อโรคกาลีนี้สามารถสร้างเกราะหุ้มตัวมันเอง ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในเกราะนี้คงทนอยู่ได้ในพื้นดินเป็นเวลานาน
นับสิบๆ ปี
ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดโรคนี้ระบาดขึ้นในท้องที่ใดก็ตาม หลังจากนั้นนานนับสิบปีโรคนี้ก็อาจกลับมาเกิดขึ้นอีกได้ในท้องที่นั้น
ถ้าเชื้อโรคกาลีที่เกิดในตอนแรกเข้าเกราะหุ้มตัวตัวอยู่ในดิน และสัตว์เลี้ยงเผอิญไปกินเอาเชื้อโรคในดินนั้นเข้าไป
โรคกาลีเกิดได้กับสัตว์เลี้ยง พวก โค, กระบือ, ม้า, แพะ ส่วนสุนัข, แมว, สุกร และคนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
-สาเหตุและอาหาร
โรคนี้เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เชื้อแบคทีเรียนี้อาจจะเข้าสู่ร่างกายสัตว์ทางบาดแผล หรือโดยการกินเข้าไปก็ได้
อาการของสัตว์ที่เป็นโรคนี้ จะปรากฏออกมาหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วตั้งแต่ 1 หรือ 2 วัน จนถึง 1 หรือ 2 สัปดาห์
ในรายที่สัตว์เป็นโรคนี้อย่างเฉียบพลัน จะพบว่าสัตว์ตายอย่างกะทันหันโดยไม่แสดงอาการให้เห็นมาก่อนเลย สัตว์จะล้มลงชัก
กล้ามเนื้อสั่น เคี้ยวฟัน กลอกตา หายใจขัด และตายอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีโลหิตสีดำไหลออกมาจากทวารต่างๆ เช่น ปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะสืบพันธุ์ โลหิตที่ไหลออกมาจะไม่แข็งตัวอันเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของโรค ซากสัตว์จะขึ้นอืด
อย่างรวดเร็ว
รายที่เป็นโรคนี้อย่างไม่เฉียบพลัน สัตว์จะแสดงอาการออกมา ให้เห็นอยู่ราว 1 – 2 วัน โดยจะมีไข้สูง ซึมมาก กล้ามเนื้อสั่น
หัวตก หูตก ชีพจร และการหายใจถี่เร็ว ระยะแรกมีอาการท้องผูก ต่อมามีเลือดปนต่อมาสัตว์จะตายเร็วในที่สุด
-การรักษาและการป้องกัน
เมื่อสงสัยว่าสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องตามนายสัตวแพทย์ให้มาตรวจวินิจฉัย และดำเนินการรักษาโดยเร็ว แต่ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลันการรักษามักไม่ได้ผล สัตว์จะตายเสียก่อน
ส่วนในการป้องกันนั้น ใช้หลักดังนี้
1.1 สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์ โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ จากนายสัตวแพทย์ปีละครั้ง ก็จะช่วยให้มี
ความต้านทานโรคนี้ขึ้น
1.2 โดยทางสุขาภิบาล
การสุขาภิบาลที่ดี เป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการแพร่ของโรคนี้ เนื่องจากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ จะมีเลือดไหลออกมาจากทวารต่างๆ เชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายของสัตว์ที่ตายก็จะไหลปะปนมาในเลือดดังกล่าวนี้ด้วย ดังนั้นซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ หรือโรคกาลี จึงควรเผาหรือฝังทันที ไม่ควรชำแหละ เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่หลายกระจายออกมาได้มากขึ้น พร้อมกับพวกหญ้า ฟางที่รองนอนตลอดจนดินบริเวณที่สัตว์ตาย ต้องเผาให้ไหม้ให้หมด ในการฝังต้องขุดหลุมให้ลึกอย่างน้อย 2 วา รองหลุม และกลบซากสัตว์ด้วยปูนขาว
ไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงกลบดินให้แน่น ควรใช้ขอนไม้ทับปากหลุมเพื่อป้องกันสุนัข หรือสัตว์อื่นมาขุดคุ้ยดิน
สัตว์ที่สงสัยว่าป่วยต้องแยกออกจากสัตว์ดี ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเทราดทำความสะอาดตามคอก
-ข้อควรระวัง
เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นในคนได้ ทำให้ผิวหนังอักเสบ, ปอดอักเสบ, ลำไส้อักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงต้องระมัดระวัง
การติดเชื้อโรคนี้

2.โรคปากเท้าเปื่อย
โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคระบาดชนิดเฉียบพลันของสัตว์กีบ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ กวาง โดยเฉพาะโคในประเทศไทย มักจะป่วยด้วยโรคนี้อยู่เสมอ
-สาเหตุและอาการ
โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มักจะระบาดในตอนต้นฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่ การระบาดก็มักจะเกิดจากการสัมผัสกันระหว่าง
สัตว์ป่วยกับสัตว์ดี หรืออาจติดต่อกันโดยการกินอาหาร และน้ำที่มีเชื้อไวรัสนี้ปะปน นอกจากนี้ก็อาจจะติดต่อกันโดยทางอื่นๆ อีกหลายทาง เพราะเชื้อไวรัสจะมีอยู่ในน้ำลาย, สิ่งขับถ่ายตลอดจนน้ำนมของสัตว์ป่วย
หลังจากสัตว์ได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2 – 7 วัน ก็จะแสดงอาการออกมาให้เห็นโดยสัตว์ป่วยจะมีไข้ เบื่ออาหาร
หยุดเคี้ยวเอื้อง กระหายน้ำ แสดงอาการโรคปากอักเสบอย่างเฉียบพลัน น้ำลายไหลยืดเป็นสาย กัดฟัน มีเม็ดตุ่มเกิดขึ้นที่เยื่อเมือกภายใน
ช่องปาก เช่น ที่ลิ้น, ริมฝีปาก, เหงือก, เพดาน และเม็ดตุ่มเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 ซม. มีผนังบาง ภายในมีน้ำสีฟางแห้ง ต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกภายใน 24 ชม. เกิดเป็นแผลแดง ซึ่งสัตว์จะเจ็บปวดมากถ้าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน แผลจะหายภายใน 7 วัน
แต่ส่วนใหญ่สัตว์ที่ตายก็เนื่องจากบาดแผลที่ช่องปาก ทำให้สัตว์กินอาหารไม่ได้ อ่อนแรง ซูบผอม ความต้านทานลดลง เชื้อโรคอื่นๆ
ก็จะเข้าแทรกซ้อนทำให้สัตว์ตายได้ โดยเฉพาะลูกสัตว์มีโอกาสตายมาก
สำหรับเม็ดตุ่มที่เท้าสัตว์ป่วยบริเวณกีบ และซอกกีบจะปรากฏให้เห็นหลังจากเกิดเม็ดตุ่มที่ปากแล้ว 2-5 วัน ต่อมาเม็ดตุ่มนี้จะแตกออก ผิวหนังลอกหลุด เกิดเป็นแผล สัตว์ป่วยจะเจ็บปวดที่เท้าทำให้เดินขากระเผลก ตรงบริเวณไรกีบจะบวม และเจ็บปวดมาก อาจถึงกับล้มลงนอน โดยมากแล้วจะมีเชื้อแบคทีเรียอื่นเข้าแทรกซ้อนตรงบริเวณบาดแผล ทำให้บาดแผลอักเสบลุกลามมาก อาจกินลึกเข้าไปในกีบบางทีถึงกับทำให้หลุดได้ แผลที่เท้านี้อาจเป็นทั้ง 4 เท้า หรือเป็นบางเท้าก็ได้
ในบางรายอาจจะเกิดเม็ดตุ่มขึ้นที่บริเวณหัวนม และเต้านมด้วย ในรายเช่นนี้มักจะเกิดโรคแทรก คือ เต้านมอักเสบ
สัตว์ที่เป็นโรค ปาก และเท้าเปื่อยนี้ ถ้าไม่มีโรคแทรกสัตว์จะหายป่วยภายใน 2-3สัปดาห์แต่ถ้ามีโรคแทรกอาจกินเวลาหลายอาทิตย์
หลายเดือนกว่าจะหาย สัตว์มักจะไม่ค่อยตาย
-การรักษาและการป้องกัน
เมื่อสัตว์ป่วยโรคนี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาถ้าเป็นแล้วต้องใช้ยาบำรุง, ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแทรกซ้อน ส่วนการป้องกันคือ
1. สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์โดยนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนทุก 6 เดือน
2. ทำลายสัตว์ป่วยหรือแยกสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยออกต่างหากจากสัตว์ดี

3.โรคเฮโมราจิก เซพติดซีเมีย (โรคคอบวม)
โรคนี้ชาวบ้านทั่วไปเรียก โรคคอบวม หรือโรคคอตีบ เพราะเนื่องจากโรคนี้มักมีอาการคอบวม และกินอาหารไม่ได้ ต่อมาก็ตาย
โรคนี้ถือเป็นโรคอันตรายร้ายแรงโรคหนึ่งของ โค, ควาย, แพะ, แกะ, ม้า และช้าง เพราะโรคนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และตายในเวลา
อันรวดเร็ว
การระบาดของโรคนี้ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในประเทศไทย จะพบการระบาด และตายของโค ควาย เนื่องจากโรคนี้อยู่เป็นประจำ
-สาเหตุและอาการ
ฃโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สำหรับการติดต่อนี้ติดได้ง่ายมาก เพราะเชื้อโรคนี้พบอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะในน้ำ ในอาหาร
ตามทุ่งหญ้า หรือแม้แต่ในร่างกายของสัตว์ เช่น ในทางเดินหายใจ, ปอด แม้แต่ในปากก็พบเชื้อได้ การระบาดของโรคก็ขึ้นกับความรุนแรง
ของเชื้อ และสภาพสัตว์ที่ทรุดโทรมทำให้เกิดติดโรคได้ง่าย
สำหรับอาการที่พบ สัตว์จะมีไข้สูง 104 องศาฟาเรนไฮต์ขึ้นไป บริเวณใต้คาง คอเหนียง และพื้นท้องจะบวมน้ำ และต่อมาใต้คางจะบวม นอกจากนี้ยังมีน้ำลายไหลยืด ต่อมาสัตว์จะตาย ซึ่งมักจะตายเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ และหายใจไม่ออก
ในบางราย สัตว์จะมีอาการไอ ซึม มีน้ำมูกไหลด้วย
-การควบคุมและการป้องกัน
โดยการจัดการสุขาภิบาลที่ดี โรงเรือนถูกสุขลักษณะ อาหารถูกสุขลักษณะ ในกรณีที่มีสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องแยกสัตว์ป่วย
ออกต่างหากเพื่อทำการรักษา
นอกจากนี้ สัตว์ทุกตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนทุก 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่สัตว์อายุได้ 6 เดือน

4. โรคแบล็คเลค (โรคไร้ขา)
โดยมากชาวบ้านมักเรียกโรคไข้ขา เพราะลักษณะเด่นของโรคนี้ คือ กล้ามเนื้ออักเสบ ทำให้เดินเคลื่อนไหวไม่สะดวก และมักทำให้เกิด
โลหิตเป็นพิษรุนแรงตามมา ทำให้อัตราการตายสูงมาก
-สาเหตุของการติดโรค
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้มักเกิดกับ โค, ควาย, แพะ, แกะ และสุกร โดยเชื้อนี้จะเข้าตามบาดแผลต่างๆ เช่น แผลถลอก ถูกของมีคมบาดหรือทิ่มตำ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปอยู่ตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สำหรับ ตัวอ่อนของเชื้อนี้มีความทนทานมาก อยู่ได้ตามพื้นดินได้นานเป็นปี
-อาการ
บางตัวที่ได้รับเชื้อรุนแรง อาจตายโดยไม่แสดงอาการ ส่วนอาการทั่วไปที่พบ คือ สัตว์จะซึม ไม่กินอาหาร ไม่เคี้ยวเอื้อง หายใจเร็ว
และอาจเจ็บที่ขาอาจจะเป็นข้างเดียวหรือหลายข้าง ขาข้างที่แสดงอาการจะปวด บวม โดยเฉพาะด้านส่วนต้นๆ ของขา บริเวณขาที่บวม
จะบวมมากขึ้น และปวดมาก ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีม่วงเข้มเนื่องจากมีการคั่งของเลือด ต่อมาถ้าคลำดูบริเวณนั้นจะไม่ค่อยมีความรู้สึก แต่จะมี
ลักษณะเหมือนมีแก๊สแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ โดยปกติแล้ว อุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ระหว่าง 105-109 องศาฟาเรนไฮต์ และสัตว์มักตาย
หลังแสดงอาการแล้ว 24-48 ชั่วโมง
บริเวณที่เกิดความผิดปกตินี้มักเกิดที่ขาหลังมากกว่าที่อื่น แต่ส่วนอื่นๆ ก็อาจเกิดได้ เช่น ขาหน้า, ลิ้น, เหนียง, หน้าอก และเต้านม เป็นต้น
-การรักษา
เมื่อพบว่าสัตว์มีอาการของโรคนี้ ให้รีบตามนายสัตวแพทย์มาตรวจวินิจฉัย และดำเนินการรักษาโดยเร็ว ถ้าช้าสัตว์มักตาย โดยทั่วไปแล้วยาที่ใช้ได้ผลในการรักษา คือ พวกเพนนิซิลลิน
-การป้องกัน
โดยการเน้นเรื่องสุขาภิบาลที่ดี พยายามอย่าให้สัตว์เกิดบาดแผลขึ้นได้ ในกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น ให้ทำความสะอาดบาดแผล
ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคให้สะอาด และหมั่นรักษาบาดแผลให้สะอาดจนแผลหาย
สำหรับการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยควบคุมป้องกันโรคได้ โดยฉีดในสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุก
6 เดือน

5.โรคแท้งติดต่อ หรือ โรคบลูเซลโลสิส
โรคแท้งติดต่อเป็นโรคระบาดที่สำคัญโรคหนึ่งของโค, กระบือ, สุกร, แพะ, แกะ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ รวมทั้งคนก็อาจติดโรคนี้ได้ โรคนี้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม เพราะโรคนี้จะทำให้ปริมาณของน้ำนมที่ควรได้ลดลง
เนื่องจากแม่โคแท้ง ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียชีวิตลูกโคไปด้วย
นอกจากนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาการผสมไม่ติด ทำให้การจัดการแผนการผสมพันธุ์เสียไป นอกจากนี้ในแม่โคบางตัวหลังจากแท้งลูก
แล้ว จะเกิดโรคมดลูกอักเสบตามมา ทำให้เสียสุขภาพ และอาจตายได้
-สาเหตุและอาการ
โรคแท้งติดต่อ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งพบเชื้อแบคทีเรียนี้ได้ในสัตว์เกือบทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่มักพบเกิดกับโค
เท่านั้น การติดต่อของเชื้อแบคทีเรียนี้เกิดได้หลายทาง คือ
1. | โดยการกินอาหาร และน้ำที่มีเชื้อนี้ปะปนอยู่ |
2. | โดยการเลียสิ่งที่ขับออกทางช่องคลอดของโคตัวเมียที่เป็นโรค |
3. | โรคติดต่อกันได้โดยเชื้อเข้าทางบาดแผลที่ผิวหนัง |
4. | เชื้ออาจเข้าทางนัยน์ตาได้ในขณะที่แม่โคเป็นโรค กวัดแกว่งหางแล้วถูกนัยน์ตา |
5. | โรคติดต่อกันได้โดยการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ |
6. | โรคติดต่อกันโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อโคที่เป็นโรคแล้วนำไปผสม |
7. | ลูกโคติดโรคโดยการกินน้ำนมจากแม่โคที่เป็นโรค นอกจากนี้โรคอาจติดต่อจากแม่โคตัวหนึ่งไปยังแม่โคอีกตัวหนึ่งได้ ในระหว่างรีดนม |
เมื่อสัตว์รับเชื้อ เข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 6 เดือน ก็จะแสดงอาการเป็นโรคออกมา คือ
แม่โคมักจะแท้งลูกหลังจากตั้งท้องได้ 5 เดือน แต่ถ้าไม่แท้งจะได้ลูกที่อ่อนแอ การแท้งไม่จำเป็นต้องเกิดทุกๆ ท้อง หลังจากแท้งมักจะเกิดรกค้าง และมดลูกอักเสบตามมาเสมอ มดลูกอักเสบถ้าเป็นชนิดเฉียบพลันอาจเกิดโลหิตเป็นพิษ และทำให้แม่โคตายได้
ถ้ามดลูกอักเสบเป็นแบบเรื้อรังจะทำให้ผสมไม่ติด ซึ่งการผสมไม่ติดนี้ อาจจะเป็นชั่วคราว หรือถาวรตลอดก็ได้ นอกจากนี้ก็มีอาการสุขภาพทรุดโทรม น้ำหนักลด บวมที่ข้อ และแม่โคจะมีอาการเต้านมอักเสบด้วย
อาการพ่อโค จะมีอาการอัณฑะอักเสบ บวมโตกว่าประมาณ 3 เท่า และจะเจ็บปวดมาก ต่อมาลูกอัณฑะจะเกิดเนื้อตาย และใช้งานไม่ได้ ถ้าลูกอัณฑะเกิดการอักเสบ และถูกทำลายไปทั้ง 2 ลูก จะทำให้พ่อโคตัวนั้นผสมไม่ติดเป็นหมัน แต่ในรายที่ลูกอัณฑะถูกทำลายไปเพียงลูกเดียว อีกลูกหนึ่งยังทำหน้าที่ได้ตามปกติ พ่อโคตัวนี้จะยังผสมติด แต่จะเป็นตัวแพร่เชื้อต่อไป ถ้ายังใช้เป็นพ่อพันธุ์อยู่โดยการผสมตามธรรมชาติ และโดยการผสมเทียม
-การรักษาและป้องกัน
เมื่อโคป่วยหรือผสมไม่ค่อยติด และสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ควรติดต่อนายสัตวแพทย์ให้มาทำการตรวจรักษา ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มียา
รักษาโรคนี้ที่ได้ผล
การควบคุมโรคแท้งติดต่อนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ
1. การสุขาภิบาล
2. การฉีดวัคซีนให้กับสัตว์
3. การตรวจเลือด และกำจัดสัตว์ที่เป็นโรคออกไป
1.1 การสุขาภิบาล
หมายถึง การแยกสัตว์ป่วยออก, เมื่อมีการแท้งให้รีบเผา หรือฝังซากลูกโคตลอดจนรก และสิ่งขับถ่ายจากมดลูก, และให้ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณนั้นให้ทั่ว โคทุกตัว และสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในฟาร์ม ให้ทำการตรวจเลือดทันที แล้วกำจัดตัวที่เป็นโรคออก และให้ทำการตรวจซ้ำหลังจากนั้น 30 วัน แม่โคท้องแก่ใกล้คลอดให้แยกออกกักขังไว้ต่างหากจนกระทั่งคลอด ทั้งนี้เพราะแม่โคบางตัวที่เป็นโรคนี้ใน
บางครั้งเมื่อตรวจเลือดจะให้ผลลบจนกว่าจะคลอดหรือแท้งลูก
1.2 การฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ซึ่งมีวัคซีนอยู่หลายแบบ จะเริ่มฉีดให้ได้ตั้งแต่อายุ 1-8 เดือน ทั้งนี้อยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ว่าจะใช้วัคซีนแบบไหน แต่โดยทั่วไป นิยมใช้วัคซีนเสตรน S19 แก่โคตัวเมียที่อยู่ในช่วงอายุ 3-9 เดือน ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันโรคนานถึง 5-8 ปี
1.3 ความเกี่ยวข้องในด้านสาธารณสุข
คนสามารถติดโรคนี้ได้ โดยการไปสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค หรืออวัยวะสัตว์ที่เป็นโรค เช่น ลูกโคที่แท้งออกมา, รก หรือติดโรคโดยการกินน้ำนมจากสัตว์ที่เป็นโรคโดยไม่ได้ทำการพาสเจอไรซ์เสียก่อน
คนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น นายสัตวแพทย์, กสิกรที่เลี้ยง, คนทำงานโรงฆ่าสัตว์, คนทำผลิตภัณฑ์จากสัตว์ มักจะพบเป็นโรคนี้เสมอ
ที่มา : พรชัย อินเตอร์เทรด
ปล.รูปภาพไม่เกี่ยวกับบทความ