วิธีการเลี้ยงปลาหมอไทย

ปลาหมอไทย เป็นปลาที่มีรสมัน เนื้อแน่น นุ่ม ก้างน้อย สามารถประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งต้มยำ แกง ย่าง ทอด ทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง และอื่นๆ ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาด และนิยมบริโภคกันมาก ทั้งในประเทศ และการส่งออก

ปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีความทนในสภาพที่มีน้ำน้อยหรือขาดน้ำ จึงสามารถขนส่ง และจำหน่ายในรูปปลาสดที่มีชีวิตในระยะทางไกลๆได้ เป็นปลาที่ต้องการทางตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศสูงในแต่ละปี (จีน ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง) โดยเฉพาะปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ (3-5 ตัว/กิโลกรัม) ราคาจำหน่ายในประเทศ กิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งใน และต่างประเทศ

ปลาหมอไทย (Climbing Perch, Anabastestudineus, Bloch) เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยที่นิยมบริโภคกันทั่วทุกภาค มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ และอีสาน เรียกว่า ปลาเข็ง ภาคใต้ เรียกว่า อีแกปูยู

IMG_1249

ลักษณะปลาหมอไทย

ปลาหมอมีอวัยวะช่วยหายใจ (labryrinth organ) ในช่องเหงือกใต้ลูกตา ประกอบด้วยแผ่นกระดูกบาง (lamellae) จำนวนมากเรียงซ้อนกัน และถูกห่อหุ้มด้วยผนังบางๆที่มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก แผ่นนี้จะช่วยดูดซับออกซิเจนในอากาศ และผ่านเข้าสู่เส้นเลือดฝอยเมื่อโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศเหนือผิวน้ำ

ปลาหมอไทยมีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน ปกคลุมด้วยเกล็ดแข็งแบบ ctenoid สีน้ำตาลหรือเหลืองปนดำหรือเขียวปนดำ และมีมีสีเหล่านี้ปะปนกันทั้งลำตัว เกล็ดบริเวณใกล้ท้องมีสีจางกว่าส่วนหลัง ลำตัวยาวประมาณสามเท่าของความกว้างลำตัว บริเวณสันหลังมีครีบหลังที่แข็ง 17-18 ก้าน และก้านครีบอ่อนส่วนท้ายสันหลัง 9-10 ก้าน ครีบก้นส่วนต้นมีก้านครีบแข็ง 9-10 ก้าน และก้านครีบอ่อนส่วนท้าย 10-11 ก้าน ครีบท้องถัดจากครีบก้นขึ้นไปทางด้านหัวมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ส่วนครีบอกที่อยู่เหนือครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 15 ก้าน ตำแหน่งของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้องอยู่ในแนวเดียวกัน เส้นข้างตัวแบ่งขาดเป็น 2 ตอน กระดูกกระพุ่งแก้มงอพับได้ ส่วนปลายมีลักษณะเป็นหนามแหลมคม และส่วนล่างกระดูกกระพุ้งแก้มแยกเป็นกระดูกแข็งสำหรับปีนป่าย เรียกว่า ichy feet หรือเกาะกับพื้นเพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ครีบหางมีลักษณะกลม มนเล็กน้อย บริเวณโคนหางมีจุดสีดำกลม หรืออาจไม่มีก็ได้ ปากอยู่สุดของส่วนหัว มีลักษณะเฉียงขึ้นเล็กน้อย ริมฝีปากยืดหดไม่ได้ ฟันด้านในแหลมคม ตามีลักษณะทรงกลม มีตาดำอยู่ตรงกลาง

IMG_1255

ขนาดลำตัว และการเติบโตปลาหมอไทย

ปลาหมอไทยโตเต็มวัยที่สามารถสืบพันธุ์ และวางไข่ได้ จะมีอายุประมาณ 5 เดือน หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้ว ขนาดความยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร น้ำหนัก 30-40 กรัม

อัตราการเติบโตของปลาหมอไทยจะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล มีช่วงการเจริญเติบโตดีในฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว อัตราการเจริญเติบโตจะสูงมากในช่วงต้นฤดูฝน ในฤดูหนาวอุณหภูมิลดลง การเจริญเติบโตจะช้าหรือหยุดชะงัก และจะเป็นปกติเมื่อพ้นฤดูหนาว

การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย

โดยธรรมชาติ ปลาหมอไทยวางไข่ในช่วงฤดูฝนเหมือนปลาอื่นๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะน้ำใหม่หรือฝนแรก ปลาหมอเพศเมียที่พร้อมจะวางไข่จะมีส่วนท้องอูมเป่ง และนิ่ม เมื่อบีบท้องเบาๆ จะมีไข่กลม สีเหลืองอ่อนออกมา ส่วนเพศผู้จะมีลักษณะปกติ ไม่เปลี่ยนแปลง  ก่อนวางไข่ ปลาเพศผู้จะก่อหวอดที่เคลือบด้วยสารเมือกเกาะติดกันเป็นกลุ่มฟองอากาศ บริเวณก่อหวอดมักเป็นน้ำตื้น มีกอหญ้า ปลาตัวเมียจะเข้าวางไข่ใต้หวอด และตัวผู้ก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่ปลาหมอจะลอยอยู่ผิวน้ำ ไข่ที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองอ่อนใส ขนาดประมาณ 0.7-1 มิลลิเมตร และจะพัฒนาการจนฟักออกเป็นตัวอ่อนต่อไป

การกระตุ้นให้วางไข่

1. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์

ขั้นแรกให้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีไข่ และน้ำเชื้อสมบูรณ์ ตัวใหญ่ ไม่มีรอยโรค ต้องให้มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป น้ำหนักตั้งแต่ 60 กรัมขึ้นไป ตัวเมียท้องอวบอูม เมื่อใช้มือบีบเบาๆ จะมีไข่ลักษณะกลมสีเหลืองออกมา ส่วนปลาตัวผู้ เมื่อบีบบริเวณอวัยวะจะมีน้ำเชื้อสีขาวคล้ายนมออกมา

2. การกระตุ้นให้วางไข่

นิยมทำได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนตุลาคมของทุกปี ในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ ระดับน้ำในบ่อ 30-50 เซ็นติเมตร แต่นิยมทำในบ่อซีเมนต์ เพราะง่ายต่อการดูแล และจัดการ การกระตุ้นจะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนเร่งการวางไข่ให้แก่ตัวเมีย ฮอร์โมนที่ใช้ชื่อ บูเซอรีลิน (buserelin) ชื่อการค้า ซูปรีแฟคท์ (Suprefact) ขนาดความเข้มข้น 15-30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม และสารระงับระบบการหลั่งฮอร์โมนหรือยาเสริมฤทธิ์ชื่อ โดมเพอริโดน (domperidone) ชื่อการค้า โมลิเลียม-เอ็ม (motilium-M) ขนาด 5-10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม จำนวน 1 ครั้ง และฉีดฮอร์โมนแก่ปลาเพศผู้อัตรา 5-10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดกระตุ้นเสร็จให้ปล่อยพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ และวางไข่ในบ่อวางไข่ที่มีกระชังตาห่างซึ่งแขวนอยู่ในบ่อชั้นแรกสำหรับกันพ่อแม่พันธุ์ และมีผ้าโอล่อนแก้วรองรับไข่ปลาอีกชั้นหนึ่ง อัตราปลาเพศเมียต่อปลาเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 1 ให้พ่นสเปรย์น้ำ และถ่ายเปลี่ยนน้ำ 8-12 ชั่วโมง เมื่อปลาวางไข่หมดแล้วจึงนำกระชังตาห่าง และพ่อแม่พันธุ์ออก ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวประมาณวันที่ 4-5 หลังการวางไข่ แล้วจึงรวบรวมไปอนุบาลในบ่ออนุบาลต่อไป

IMG_1256

ระยะการให้อาหารลูกปลา

1. อายุ 1-3 วัน

– อาหารจากถุงอาหาร

2. อายุ 4-10 วัน

– โรติเฟอร์ ร่วมกับไข่แดงต้มบดผ่านผ้า

3. อายุ 10-27 วัน

– ไรแดง ร่วมกับไข่แดงต้มบดผ่านผ้า

4. อายุ 24-32 วัน

– อาหารสำเร็จรูป โปรตีน 30-35 เปอร์เซ็นต์

5. อายุ 33-78 วัน

– อาหารสำเร็จรูป โปรตีน 30-35 เปอร์เซ็นต์

เมื่ออนุบาลลูกปลาได้ 3 สัปดาห์ ให้ค่อยๆเพิ่มระดับน้ำเป็น 80 เซนติเมตร ควรตรวจสอบโรตีเฟอร์ และไรแดงในบ่อ รวมถึงตรวจดูสุขภาพลูกปลา และการเจริญเติบโตทุกวัน บ่อที่อนุบาลควรทำหลังคาป้องกันแสงแดด และใส่ผักบุ้งหรือพันธุ์ไม้น้ำในกระชัง ปลาที่สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงได้จะมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร (อายุ 20-30 วัน หรือ 1-2 เดือน) หรือที่มักเรียกทั่วไปว่า ปลาขนาดใบมะขาม

การเลี้ยงในบ่อดิน

เมื่อลูกปลาได้ขนาด จะทำการปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ อัตราเลี้ยงที่เหมาะสม 30-50 ตัว/ตารางเมตร หรือ 40,000-80,000 ตัว/ไร่ ส่วนวิธีปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์ และวางไข่ในบ่อเลี้ยงเลย อัตราพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 25-50 คู่/ไร่ จะได้ลูกประมาณ 50,000-100,000 ตัว/ไร่

สำหรับเกษตรกรไม่มีความเรื่องการเพราะพันธุ์ปลา อาจหาซื้อลูกปลาตามฟาร์มหรือโรงเพาะพันธุ์ ขนาด 2-3 นิ้ว (อายุ 60-75 วัน หรือ 2-3 เดือน) อัตราการปล่อยประมาณ 25 ตัว/ตารางเมตร หรือ 40,000 ตัว/ไร่ บ่อที่ใช้เลี้ยงควรขึงด้วยผ้าเขียวรอบบ่อ เพื่อป้องกันศัตรูของปลาหรือปลาปีนป่ายออกนอกบ่อ โดยเฉพาะเวลาฝนตก และอาจติดตั้งระบบการเพิ่มออกซิเจนหากคุณภาพน้ำมีปัญหา

อาหาร และการให้อาหาร

อาหารปลาหมอในระยะเลี้ยงดูในบ่อดิน ในระยะ 1-2 เดือน จะใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ระยะ 2-3 เดือน ขึ้นไป อาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 หรืออาหารเม็ดปลาดุกเล็ก ร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ เช่น ไรแดง ปลวก รำข้าว เป็นต้น ระยะเวลาในการเลี้ยงที่เริ่มจับขายได้ 90-120 วัน หรือประมาณ 4-5 เดือน

IMG_1244

ประโยชน์ และการแปรรูป

ปัจจุบัน ปลาหมอจัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยง และบริโภคกันมากในทุกภาคของไทย เนื่องจากให้เนื้อแน่น เนื้อมีรสมันอร่อยต่างจากปลาชนิดอื่น มีก้างน้อย มักพบปิ้งย่างเกลือขายตามตลาด ร้านอาหาร ริมถนน โดยเฉพาะถนนสายอีสาน และภาคเหนือ นอกจากนั้น ยังนิยมประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น ต้มยำ แกง และทอด

การแปรรูปปลาหมอนิยมใช้ปลาหมอขนาดเล็กในการทำปลาร้า ส่วนปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจะแปรรูปตากแห้งหรือทำปลาเค็มสำหรับย่างหรือทอด

3

ที่มา : กรมปศุสัตว์

ภาพเมนูปลา : ร้านเพลิน

Leave a Reply