ปลาสลิด ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ เลี้ยงง่าย โตไว

IMG_1110

ปลาสลิด (Snake Skin Gounrami) เป็นปลาน้ำจืดที่ไม่นิยมรับประทานสด แต่นิยมนำมาทำเค็มและตากแห้งสำหรับนำมาทอด ปิ้งย่าง และยำรับประทานเป็นหลัก นอกจากนั้น มีแหล่งเลี้ยงที่สำคัญในหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับปลาหมอ ปลากด ปลากัด ปลาแรด และปลากระดี่

IMG_1065

ลักษณะทั่วไปของปลาสลิด

ปลาสลิดมีลำตัวคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ลำตัวมีลักษณะแบน มีส่วนหัว และหางเรียว และส่วนกลางลำตัวกว้าง ลำตัวมีสีเขียวอมเทา หรือมีสีคล้ำเป็นพื้น และมีสีเขียวเข้มทางด้ายซ้าย และมีแถบสีดำพาดขวางตามแนวยาวจากหัวถึงโคนหาง ข้างละ 1 แถบ และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดเฉียงบริเวณลำตัว และมีเกล็ดเหนือเส้นข้างตัว 42-47 เกล็ด ส่วนปากขนาดเล็ก แต่ยืดหดได้ ส่วนครีบอกมีขนาดใหญ่ และยาว ส่วนหัวมีก้านครีบแข็ง 7 อัน และก้านครีบอ่อน 10-11 อัน ปลาสลิดซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มที่จะมีความยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร แต่ทั่วไปจะพบขนาดความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปลาสลิดมีอวัยวะพิเศษที่ใช้ช่วยในการหายใจ เรียกว่า ลาบิริงค์ ออร์แกน (Labyrinth organ)มีลักษณะคล้ายดอกไม้บาน เป็นกลีบเรียงซ้อนกันอยู่เหนือเหงือก ทำให้สูดออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรงจึงสามารถอยู่บนบกได้นาน

IMG_1080

การแยกเพศ

ปลาสลิดเพศผู้จะมีลำตัวเรียวยาวมากกว่าปลาสลิดเพศเมีย มีแนวสันหลัง และสันท้องในแนวเกือบขนานกัน มีครีบยาวจรดหางหรือยาวมากกว่าโคนหาง ลำตัวมีสีเข้ม และมีสีสันสวยงามมากกว่าตัวเมีย

ส่วนปลาสลิดเพศเมียจะ มีลำตัวป้อมสั้น สันหลังไม่ขนานกัน เพราะมีสันท้องยาวกว่า มีครีบหลังมน และสั้นกว่าเพศผู้ และครีบไม่ยาวถึงโคนหางเหมือนเพศผู้ นอกจากนั้น ลำตัวจะมีสีจางกว่า และเมื่อถึงฤดูวางไข่ ส่วนท้องจะอูมเป่งใหญ่ขึ้นซึ่งเต็มไปด้วยไข่จำนวนมาก

แหล่งอาศัย และอาหาร

ปลาสลิด เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ บึง และนาข้าว ชอบหลบอาศัยตามบริเวณที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัย กําบังตัว และการก่อหวอดวางไข่

ส่วนอาหารของปลาสลิดที่สำคัญ ได้แก่ พืชน้ำ สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ไรน้ำ แพลงค์ตอนพืช/แพลงตอนสัตว์ และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ

การสืบพันธ์ุ และวางไข่

ปลาสลิดสามารถเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ และวางไข่ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 7 เดือน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 15-17 ซม. น้ำหนักประมาณ 150-400 กรัม ตัวเมียจะมีไข่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเริ่มเข้าสู่ช่วงวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม โดยแม่ปลา 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 3-4 ครั้ง/ปี แต่ละครั้งจะวางไข่ประมาณ 7,000-8,000 ฟอง แต่เจริญเป็นลูกปลาได้ประมาณ 4,000 ตัว

การวางไข่

ก่อนที่ปลาสลิดตัวเมียจะวางไข่ ปลาตัวผู้จะเลือกสถานที่ และเตรียมที่วางไข่ให้ ซึ่งมักจะเลือกบริเวณที่มีร่มใต้ต้นไม้ โดยการก่อหวอดด้วยการหุบอากาศเข้าผสมกับน้ำเมือกก่อนจะพ่นออกมาเป็นฟองอากาศที่มีลักษณะเป็นฟองน้ำลอยเกาะบริเวณต้นผัก ต้นหญ้าที่ไม่หนาทึบมาก ขนาดกว้างประมาณ 10-15 ซม. นูนจากผิวน้ำประมาณ 2 ซม. ซึ่งมักจะก่อหวอดในช่วงกลางวันจนถึงวันรุ่งขึ้นก็พร้อมผสมพันธุ์ เมื่อเตรียมหวอดเสร็จแล้ว ปลาสลิดตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียเข้าไปอยู่ใต้หวอด และเข้าใช้หางแนบรัดท้องตัวเมียเพื่อปล่อยไข่ออกมา และตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม ทำอย่างนี้ประมาณ 3 ครั้ง ใช้เวลาการวางไข่ประมาณ 2-3 นาที/ครั้ง จากนั้นปลาเพศผู้จะออไข่เข้าไปเกาะใต้หวอด พร้อมไล่ตัวเมียออกให้ห่างหวอด และคอยดูแลรังจนกว่าลูกปลาจะฟักออก และว่ายน้ำออกหากินเองได้แล้วค่อยออกใช้ชีวิตตามปกติ

IMG_1134

การฟักไข่

ไข่ปลาสลิดที่ปล่อยออกมาจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมขนาดเล็ก สีเหลือง ขนาด 0.9-2 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับขนาด ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 24-48 ชั่วโมง ส่วนไข่ที่ไม่มีการผสมน้ำเชื้อจะมีลักษณะเป็นสีขาว ลูกปลาที่ฟักออกมาใหม่จะยังไม่กินอาหาร เพราะอาศัยอาหารจากถุงอาหารที่ท้อง และจะเริ่มกินอาหารเมื่อถุงอาหารหมดประมาณ 7 วัน หลังจากฟักออก ซึ่งจะสังเกตได้จากลูกปลาลอยขึ้นเหนือน้ำในช่วงเช้า

ลูกปลาสลิดตามธรรมชาติ หากพื้นที่อาศัยมีความอุดมสมบูรณ์ ลูกปลาจะเติบโตประมาณ 7-10 ซม. ในเวลา 3 เดือน และ 10-12 ซม. ในเวลา 6 เดือน และ 16 ซม. ขึ้นไป ในเวลา 10-12 เดือน

ประโยชน์ปลาสลิด

คุณค่าทางโภชนาการ (ปลาสลิดสด 100 กรัม)

– น้ำ 80.9 กรัม

– พลังงาน 76 กิโลแคลอรี่

– โปรตีน 17.2 กรัม

– ไขมัน 0.8 กรัม

– แคลเซียม 70 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 177 มิลลิกรัม

– เหล็ก 2.3 มิลลิกรัม

– ไรโบฟลาวิน 0.2 มิลลิกรัม

– ไนอะซีน 2 มิลลิกรัม

ที่มา : กองโภชนาการ, 2535(1)

การเลี้ยงปลาสลิด การเพาะพันธุ์ และการอนุบาล

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด

การผสมพันธุ์ปลาสลิดจะใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีเมื่ออายุมากกว่า 7 เดือน ขึ้นไป-10 เดือน และมีขนาดตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไป ซึ่งตามธรรมชาติปลาสลิดจะเริ่มทำการผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม และอาจใช้ฮอร์โมนกระตุ้นให้ออกไข่ในทุกฤดู

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด สามารถเพาะได้โดยใช้บ่อซีเมนต์สำเร็จรูปหรือก่ออิฐสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 50 ซม. สร้างหรือวางใต้โรงเรือนหรือทำเพิงคลุมด้านบนบ่อเพื่อบังแดดและหาผักบุ้งหรือพืชน้ำใส่ในบ่อ

อัตราการปล่อยพ่อแม่ปลาที่ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว ต่อพื้นที่ 1-2 ตารางเมตร หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาประมาณ 5-6 วัน จะสังเกตเห็นปลาก่อหวอด และวางไข่ จากนั้น ประมาณ 1-2 วัน ให้ช้อนพ่อแม่ปลาออก

การอนุบาล

การเลี้ยงอนุบาลลูกปลาจะใช้การให้ไข่ผงหรือไรน้ำในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังจากฟักออกจากไข่ประมาณ 5-7 วัน เพราะช่วงแรกลูกปลาจะยังไม่กินอาหาร ต่อมาจึงให้รำผงละเอียดต่อ นอกจากนั้น อาจหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก และยูเรียร่วมด้วย รวมถึงเสริมด้วยพืชน้ำต่างๆ ไรแดง ปลวก และซากพืชผักเน่า และดูแลจนกว่าลูกปลามีขนาดยาว 2 เซนติเมตร จึงค่อยนำปล่อยลงในบ่อเลี้ยงต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงอนุบาลลูกปลา ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้ง/อาทิตย์

นอกจากนั้น บางพื้นที่ยังนิยมเพาะพันธุ์ปลาสลิดโดยใช้บ่อดินขนาดเล็กก่อน ซึ่งจะช่วยขยายพันธุ์ได้ครั้งละมากๆ

การเลี้ยงในบ่อดิน

การเตรียมบ่อดิน

บ่อดินที่เกษตรกรใช้เลี้ยงปลาสลิดเพื่ออาชีพ ควรมีขนาดตั้งแต่ 1 ไร่ ขึ้นไป บ่อดินใหม่ควรขุดให้ลึกประมาณ 60-75 ซม. ไม่ควรให้ลึกมากกว่านี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก เพราะหากลึกมากจะทำให้น้ำเปรี้ยวมาก หลังจากนั้นให้ใส่ปูนขาว รใส่ปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่

ส่วนบ่อเก่าให้เตรียมบ่อหลังการจับปลาสลิดแล้ว โดยทำการขุดลอกหน้าดิน 2 ปี/ครั้ง และดูดน้ำออกให้หมด พร้อมโรยด้วยปูนขาวทุกครั้ง อัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ และตากก้นบ่อนาน 10-20 วัน

หลังการเตรียมบ่อในขั้นแรกเสร็จแล้ว ให้หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือมูลไ่ก่ อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ รำละเอียด 15-20 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้นน้ำเข้าบ่อสูง 10-20 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ก็จะเกิดแพลงก์ตอนพืชสำหรับเป็นอาหารปลาสลิด แล้วค่อยปล่อยน้ำเข้าบ่อให้มีความสูงตามระดับที่เหมาะสม

การปล่อย และการดูแล

เมื่อลูกปลาสลิดมีความยาวตั้งแต่ 2-3 ซม. ให้จับมาปล่อยในบ่อดิน อัตราการปล่อยที่ 1 ตารางเมตร/ปลาสลิด 5-10 ตัว หรือประมาณ 8,000-16,000 ตัว/ไร่

หลังการปล่อยให้นำผักบุ้ง ผักกะเฉด หรือพืชน้ำอื่นๆ มาปล่อยในบ่อ แต่ไม่แนะนำผักตบชะวา และจอก หรือพืชน้ำอื่นที่เป็นพืชรุกราน

อาหารของปลาสลิดที่เลี้ยงในบ่อดินจะได้จากธรรมชาติที่เป็นแพลงก์ตอน สาหร่าย และพืชน้ำเป็นหลัก แต่ควรให้อาหารเสริมเป็นระยะ เช่น การใช้รำ และปลายข้าว อย่างละ 1 ส่วน ผสมกับผักบุ้งหั่นหรือผักอื่นๆ 2 ส่วน หว่านให้ 2 ครั้ง/สัปดาห์

โรค และศัตรู

ปลาสลิด เป็นปลาที่ไม่ค่อยพบเป็นโรคมากนัก แต่อาจพบการตายจากสาเหตุออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอเป็นสำคัญ ที่สังเกตได้จากการที่ปลาขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ มักพบในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เน่าเสีย หรือหากเป็นบ่อเลี้ยงก็จะเกิดการการเน่าเสียของอาหารในน้ำหรือการเลี้ยงในปริมาณมากเิกินไป ทั้งนี้ สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ และปล่อยพันธุ์ปลาในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนั้น อาจพบเห็บปลาที่มีลักษณะตัวแบน สีน้ำตาลใสเกาะติดตามลำตัว ทำให้ปลาผอม และเจริญเติบโตช้า ซึ่งแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำปล่อยๆ

IMG_1077IMG_1106

IMG_1107

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมปศุสัตว์ 

Leave a Reply