โซลาร์เซลล์..เลี้ยงปลา หยุดปัญหาปลาน็อกน้ำ

ชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.สันทรายหลวงอ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ประกอบอาชีพเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงแต่ละรุ่นใช้เวลา 8-10 เดือน บางช่วงอากาศแปรปรวน ร้อนนาน ฝนตกบ่อย มีผลทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ…เกิดปัญหาปลาน็อกน้ำ

“ปกติชาวบ้านจะปล่อยปลาตะเพียนลงไปเลี้ยงผสมกับปลานิลในบ่อให้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ หากปลาตะเพียนลอยหัวขึ้นมาสูดอากาศเหนือผิวน้ำ นั่นหมายถึง ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำใกล้ถึงจุดวิกฤติ เราจะใช้โดโลไมท์หว่านข้างบ่อเพื่อปรับสภาพน้ำ คนไหนมีเงินลงทุนจะติดตั้งเครื่องเติมอากาศ แต่ต้องแบกรับค่าไฟเดือนละหลายพันบาท และวันไหนทุกบ้านเปิดเครื่องตีอากาศพร้อมกัน เกิดปัญหาไฟกระชากดับ ปลาเสี่ยงน็อกน้ำตายยกบ่อ เหมือนอย่างปี 2558-2559 ปลาตายยกบ่อ รวมๆค่าเสียหาย หลายสิบล้านบาท”

นายกัมปนาท มณีศักดิ์ พ่อหลวงบ้านทุ่งยาว เล่าถึงที่มาของการขอความช่วยเหลือไปยัง ผศ.ดร.สราวุธ พลวงษ์ศรี วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ศ.ดร.ทนงเกียรติ เกียรศิริโรจน์ หน่วยวิจัยระบบทางอุณหภาพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาทำโครงการวิจัยเลี้ยงปลาอัจฉริยะสีเขียว ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุน

“เราเลือกใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บ่อทดลองขนาด 1-2 ไร่ ติดแผงโซลาร์เซลล์ 9 แผง (แผงละ 315 วัตต์) บ่อขนาด 7-8 ไร่ ติดแผงโซลาร์เซลล์ 27 แผง จ่ายไฟให้กับเครื่องเติมออกซิเจนในบ่อ หากวันไหนแสงแดดน้อย ระบบจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทน”

ส่วนการวัดค่าออกซิเจนในบ่อ ผศ.ดร.สราวุธ เผยว่า จะติดตั้งทุ่นเตือนอัจฉริยะลอยน้ำ ด้านบนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 10 วัตต์ จำนวน 4 แผง เป็นทุ่นลอย ที่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วทั้งบ่อ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำที่ระดับความลึก 50 ซม. ส่งต่อไปยังถังพักที่มีตัวประมวลค่าออกซิเจนในน้ำ และส่งข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟนให้เกษตรกรรับรู้ได้ตลอด หากปริมาณออกซิเจนในบ่อต่ำ เกษตรกรจะสามารถสั่งเปิดเครื่องเติมออกซิเจนในบ่อปลาผ่าน สมาร์ทโฟนได้ทันที

“เกษตรกรส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด คิดว่าค่าออกซิเจนในบ่อปลาจะน้อยในช่วงเวลาหนึ่งทุ่ม จึงมักเปิดเครื่องตีอากาศในช่วงนี้ ทำให้สูญเสียค่าไฟฟ้าไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะข้อมูลตลอดเวลา 2 ปี เราพบว่าค่าออกซิเจนจะต่ำสุดในช่วงตีสี่ถึงหกโมงเช้า”

ฉะนั้นช่วงก่อนใกล้รุ่งควรเปิดเครื่องตีอากาศเติมออกซิเจนแบบใช้ไฟฟ้า จากนั้นเมื่อแสงแดดแรงระบบจะปรับมาใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ตลอดทั้งวันชุดอุปกรณ์จะเก็บกักพลังงานไว้ใช้ในช่วงก่อนเช้าวันใหม่ให้เครื่องสามารถตีน้ำได้อีก 2-3 ชม.พื้นที่เลี้ยงปลา 8 ไร่ จากเดิมต้องจ่ายค่าไฟเดือนละ 20,000 บาท หลังเปลี่ยนมาติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ค่าไฟลดลงเหลือเดือนละ 8,000 บาท แถมยังช่วยให้ปลาโตไว ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง.

ที่มา : Thairath

Leave a Reply