ปลาดุกบิ๊กอุยเป็นชื่อที่เกษตรกรทั่วไปนิยมเรียก ชื่อที่กรมประมงตั้งในตอนแรกมีชื่อว่า ปลาดุกอุยเทศ เป็นปลาที่เกิดจากการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์ปลาดุกอุยกับพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ โดยฝีมือของกลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากสถาบันวิจัยประมงนํ้าจืด กรมประมง ปลาดุกยักษ์ที่เป็นพ่อพันธุ์นั้นนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นปลาที่โตเร็ว กินอาหารได้แทบทุกชนิด ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมได้ดี ถิ่นกำเนิดเดิมของปลาดุกยักษ์ คือ แถบทวีป
อัฟริกา มีชื่อวทยาศาสตร์ว่า Clarias gariepinus ( African sharptooth catfish) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ แต่มีข้อเสียที่เนื้อเหลว ซีดขาวไม่น่ารับประทาน มีนิสัยก้าวร้าว กรมประมงเรียกว่าปลาดุกเทศ แต่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาดุกยักษ์ ปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกคองโก ปลาดุกคอมมิวนิสต์ และปลาดุกอเมซอน
สำหรับปลาดุกอุย เป็นปลาพื้นเมืองของไทย ที่มีลักษณะเนื้อและรสชาดดี สีเหลืองสวยเวลาย่าง แต่มีข้อเสียที่โตช้านักวิชาการของกรมประมงจึงได้ทดลองนำปลาดุกยักษ์เพศผู้ผสมกับปลาดุกอุยเพศเมีย ได้ลูกผสมที่มีลักษณะเจริญเติบโตรวดเร็ว เหมือนพ่อ รสชาดคล้ายปลาดุกอุย ในช่วงเวลาการเลี้ยงเพียง 2- 2 ½ เดือนจะโตได้ขนาดประมาณ 200-300 กรัม/ตัว ซึ่งถ้าเป็นปลาดุกอุย จะต้องเสียเวลาเลี้ยงนานถึง 7 เดือน
ลักษณะทั่วไป
ปลาดุกบิ๊กอุยมีลักษณะกํ้ากึ่งระหว่างแม่ปลาดุกอุยและพ่อปลาดุกยักษ์ ลักษณะภายนอก นิสัยการกินอาหารคล้ายกับปลาดุกอุย มีผิวค่อนข้างเหลือง ลำตัว และหางจะมีลายจุดประสีขาวคล้ายของปลาดุกอุยเมื่อตอนเล็ก แต่พอโตเต็มที่ จุดประนี้จะค่อยหายไป กระโหลกท้ายทอยแหลมเป็นหยัก 3 หยัก หัวมีขนาดใหญ่ คอดหาง มีจุดประสีขาวตอนเล็ก เมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์ขึ้นไปอัตราการเจริญเติบโตและลักษณะจะคล้ายกับกับปลาดุกยักษ์มากขึ้น แต่เนื้อยังคงออกสีเหลืองนุ่ม รสชาดดีไม่เหลว เหมือนปลาดุกยักษ์จึงเป็นที่ต้องการบริโภคของตลาดมาก
ก่อนการเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ้กอุย ผู้เลี้ยงควรมีความเข้าใจถึงลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาดุกอุยและปลาดุกยักษ์ดังนี้

การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย
การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ้กอุยโดยวิธีการผสมเทียม สามารถกระทำได้ตลอดปี แต่ผลผลิตอาจจะแตกต่างกันเพราะแม่ปลาดุกอุยจะท้องแก่และมีไข่สมบูรณ์ที่สุดในเดือนพฤษภาคม-กันยายน พ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ก็จะมีนํ้าเชื้อในปริมาณเช่นกัน แม่ปลาดุกอุยหนัก 1 กิโลกรัม จะสามารถให้ลูกปลาได้ถึง 20,000-50,000 ตัว ควรมีโรงเพาะฟัก หลังคากันแดดกันฝน ภายในโรงเรือนประกอบด้วย
บ่อพ่อแม่พันธุ์ เพื่อใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ก่อนและหลังฉีดฮอร์โมนอย่างน้อย 2 บ่อ สำหรับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์แยกกันคนละบ่อขนาดไม่ตํ่ากว่า 1 ตารางเมตร สามารถขังแม่พันธุ์ปลาดุกอุยได้ถึง 30-40 ตัว ส่วนพ่อพันธุ์ใช้อัตราหนาแน่นตํ่ากว่าแม่พันธุ์เพราะตัวโตกว่า
2. บ่อฟักไข่ บ่อฟักไข่ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในโรงเพาะฟัก ควรมีขนาดประมาณ 1,5×3.0×0.3-0.6 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ก้นบ่อควรมีความลาดเทเล็กน้อย บ่อฟักไข่จะต้องมีระบบการถ่ายเทนํ้าที่ดี ใช้ผ้าไนลอนเขียวขนาดตา 18-20 ช่อง ต่อตารางนิ้วขึงให้ตึงในบ่อเพาะฟักให้สูงกว่าพื้นก้นบ่อขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตรและอยู่ใต้ระดับผิวนํ้าประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นวัสดุให้ไข่ติด สามารถใช้เพาะฟักไข่ จากแม่ปลาดุกอุยได้ประมาณ 9 ตัว/บ่อ
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
แม่พันธุ์ได้แก่ปลาดุกอุยเพศเมีย ลำตัวอ้วนป้อม ตรงอวัยวะเพศจะเป็นติ่งเนื้อกลมมนอยู่ด้านล่างทวาร (ถ้าเป็นเพศผู้ลำตัวจะยาวเรียวอวัยวะเพศตรงติ่งเนื้อจะยาวเรียว ด้านปลายมีลักษณะแหลม) แม่พันธุ์ควรมีนํ้าหนักไม่น้อยกว่า 200 กรัม ควรเป็นปลาที่โตเร็วกว่าตัวอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน ตรงส่วนท้องต้องอูมเป่งจนหนังท้องบาง เมื่อเอามือบีบเบาๆ ที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมา พ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ดูตรงอวัยวะเพศจะเป็นติ่งเนื้อยาวเรียวสีชมพูเรื่อๆ อยู่ใต้ทวาร ควรมีอายุไม่ตํ่ากว่า 1 ปี นํ้าหนักไม่ตํ่ากว่า 200 กรัม มีรูปร่างปราดเปรียว ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป
การฉีดฮอร์โมน
ใช้ต่อมใต้สมองจากปลาจีน ปลาไน ปลาสวาย ปลาดุก ระดับความเข้มข้น 1 โดส ทิ้งระยะห่าง 6 ชั่วโมงฉีดซํ้าครั้งที่ 2 ระดับความเข้มข้น 2 โดสห่าง 9-10 ชั่วโมง ก็สามารถนำไปรีดน้ำเชื้อได้ อาจใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองร่วมกับฮอร์โมนสกัด 100-300 I.U. ต่อแม่ปลาหนัก 1 กิโลกรัมร่วมกับการใช้ต่อมใต้สมองฉีดให้แม่ปลาในเข็มที่สอง
สำหรับพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ สามารถกระตุ้นให้มีนํ้าเชื้อโดยฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองระดับความเข้มข้น 0.5 โดส พร้อมกับการฉีดให้แม่ปลาเพศเมีย เข็มที่สอง ก่อนผ่าเอานํ้าเชื้อ 9-10 ชั่วโมง
การรีดไข่ นํ้าเชื้อ และผสมเทียม
เมื่อสังเกตเห็นว่าแม่ปลามีไข่สีนํ้าตาลเข้มไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ติดอยู่กับก้นภาชนะหรือบ่อพักแม่พันธุ์ ก็สามารถนำมารีดไข่ได้แล้ว ควรใช้ผู้รีดไข่และรีดน้ำเชื้อ 2 คนควรรีดไข่บริเวณใกล้อวัยวะเพศก่อนให้ไหลออกไปบ้าง จากนั้นตั้งต้นรีดจากส่วนท้องใต้หัวลงไปทางด้านหางไข่จะไหลลงสู่ภาชนะช้าๆ ระหว่างที่รีด ให้นำพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ที่ฉีดฮอร์โมนจนพร้อมที่จะผสมได้แล้วมาผ่าเอาถุงน้ำเชื้อโดยสอดกรรไกรลงไปในช่องทวาร ตัดผนังท้องขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงท้องบริเวณครีบหู จากนั้นตัด ขวางเป็นรูปตัวที(T) จะมองเห็นถุงนํ้าเชื้อเป็นสองพุ มีลักษณะยาวสีขาวอมชมพูติดกับกระดูกสันหลังทอดไปตามยาวของลำตัว นำถุงนํ้าเชื้อทั้งสองรวมทั้งท่อส่งนํ้าเชื้อมาตัดเป็นชิ้นๆ อย่างรวดเร็วลงบนผ้ามุ้งไนลอนเขียวที่ตรึงอยู่บนภาชนะที่รีดไข่ เทนํ้าเกลือเข้มข้น 0.7 เปอร์เซนต์หรือนํ้าสะอาดลงบนผ้ามุ้งที่มีถุงน้ำเชื้อใส่อยู่ น้ำเชื้อจะไหลตามนํ้าเกลือลงไปผสมกับไข่ในกะละมัง ใช้ขนไก่ที่แห้งและสะอาดคนไข่ผสมกับนํ้าเชื้อให้เข้ากันประมาณ 2-3 นาที นำไข่ที่ผสมแล้วไปล้างด้วยนํ้าสะอาด 1 ครั้งให้เศษสิ่งสกปรก และไขมันหลุดออกไปจากนั้นนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะฟักต่อไป นํ้าเชื้อจากพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ 1 ตัว สามารถใช้ผสมกับไข่จากแม่ปลาดุกอุยได้ประมาณ 10 ตัว
การฟักไข่
นำไข่ที่ผสมแล้วไปโรยบางๆ บนผ้ามุ้งเขียวไนลอนที่ขึงเตรียมอยู่ในบ่อเพาะฟักใต้ระดับนํ้า 5-10 เซนติเมตร จากระดับนํ้าสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตรในบ่อเพาะฟัก ไข่ปลาดุกบิ๊กอุยเป็นไข่จมติดจะเกาะกับวัสดุ หลังจากโรยไข่แล้วควรรีบถ่ายเทน้ำทันทีเพื่อช่วยชะล้างสิ่งสกปรกเละคราบไขมันหลุดออกไปและป้องกันน้ำเสีย ควรใส่เครื่องให้ออกซิเจนตลอดเวลา

พัฒนาการของไข่และตัวอ่อน
ไข่ที่ผสมแล้วจะมีสีเหลืองแกมเทามันแวววาว จะฟักเป็นตัวภายในเวลา 21- 26 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ลูกปลาดุกจะหลุดรอดผ้ามุ้งไนลอนลงสู่พื้นก้นบ่อหลังจากที่ลูกปลาดุกฟักเป็นตัวและหลุดรอดลงสู่ก้นบ่อหมดแล้วให้เอาผ้ามุ้งออกจากบ่อฟัก ไข่จากแม่ปลาดุกอุยหนัก 1 กิโลกรัมจะได้ลูกปลาดุกบิ๊กอุยประมาณ
2,000-5,000 ตัว ขึ้นกับฤดูกาลและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ด้วย
ลูกปลาบิ๊กอุยจะเริ่มแข็งแรงเมื่อมีอายุประมาณ 12-14 ชั่วโมง จะเริ่มว่าย ขึ้น-ลง ระหว่างผิวนํ้ากับก้นบ่อ ผู้เพาะเลี้ยงเรียกว่า “บิน” ระยะนี้ต้องพยายามถ่ายของเสียออกให้มากๆ อาจย้ายไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลได้แล้ว หรืออาจเลี้ยงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ถุงไข่แดงจะยุบเมื่อลูกปลามีอายุประมาณ 48 ชั่วโมง เริ่มให้อาหารพวกไข่แดงต้มสุกบดหรือยีผ่านตะแกรงตาถี่แกว่งลงในนํ้าให้วันละ 4-6 ครั้ง อัตราส่วน 1/5 ของไข่แดง 1 ฟองต่อลูกปลาประมาณ 100,000 ตัว/ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วันจะเข้าสู่ระยะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาตุ้ม” ก็ย้ายลงไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลได้
การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน
บ่ออนุบาลเป็นบ่อดิน บ่อซีเมนต์หรือกระชัง ที่มีขนาดประมาณ 2 – 5 ตารางเมตรขึ้นไป ระดับนํ้าสูง 20-30 เซนติเมตร ปล่อยลูกปลาบิ๊กอุยลงเลี้ยงในอัตรา 3,000-5,000 ตัว / ตารางเมตร ถ้าอนุบาลในกระชังที่มีนํ้าถ่ายเทตลอดเวลา จะสามารถปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในอัตราที่หนาแน่นถึง 15,000-20,000 ตัว / ตารางเมตร อาหารในระยะนี้ควรเป็นไรแดง และอาจให้อาหารเสริมพวกไข่แดงตุ๋นบดละเอียด เต้าหู้อ่อนบดละเอียด อาหารสำเร็จรูปปั้นเป็นก้อนให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อมาเริ่มเสริมด้วยปลาสดสับละเอียดผสมรำในอัตรา 9:1 ควรระวังเรื่องนํ้าเสียให้มากเพิ่มระดับนํ้าวันละ 1-3 เซนติเมตร ทุกๆ 3 วัน
การปล่อยลูกปลาในบ่อเลี้ยง
ควรปรับอุณหภูมิในถุงหรือภาชนะบรรจุลูกปลาให้ใกล้เคียงกับในบ่อเลี้ยง โดยแช่ถุงหรือภาชนะที่บรรจุลูกปลาลงในบ่อเลี้ยงนานประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงค่อยเปิดปากถุงปล่อยให้ลูกปลาว่ายออกจากถุงอย่างช้าๆ อัตราที่ปล่อยลูกปลาขนาด 3 – 5 เซนติเมตร ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40-100 ตัว / ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับวิธีและการจัดการเลี้ยงว่าเป็นแบบใด หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้วสักครู่ใส่นํ้ายาฟอร์มาลิน 30 พีพีเอ็ม สาดให้ทั่วบ่อ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับลูกปลา
การให้อาหาร
อาหารในช่วงแรกคือลูกไรแดง ที่เตรียมเพาะไว้แล้วก่อนปล่อยลูกปลาลงในบ่อเลี้ยง เมื่อไรแดงลดน้อยลง ให้อาหารผสมที่มีโปรตีน 30-50 % คลุกกับนํ้าปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากินวันละ 2 ครั้ง แล้วฝึกให้ลูกปลากินอาหารสำเร็จรูปของปลาดุกเมื่อลูกปลาโตจนมีความยาว 5-7 เซนติเมตร ปริมาณอาหารที่ให้ประมาณ 5 เปอร์เซนต์ของนํ้าหนักตัว อาจให้อาหารเสริมพวกกระดูก ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเลือดหมู เลือดไก่ บดรวมกันผสมกับรำข้าวด้วยก็ได้
ตารางสูตรอาหารสำหรับลูกปลาดุกบิ๊กอุยในระยะอนุบาล

นอกจากนี้ยังมีสูตรอาหารอีกหลายสูตร แล้วแต่ที่ผู้เพาะเลี้ยงจะคิดดัดแปลงให้เหมาะสมกับอาหารที่มีตามท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน อาหารสำหรับปลาดุกบิ๊กอุยที่มีขนาดใหญ่ต้องมีคุณภาพสูงย่อยง่าย เช่น ปลาสด หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซนต์โปรตีนสูง เพื่อช่วยให้ปลาดุกบิ๊กอุยเจริญเติบโตได้ดี ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นเพื่อลดต้นทุน การเพิ่มอาหารธรรมชาติทำได้โดยใส่ปุ๋ยไก่ลงในบ่ออนุบาลปริมาณ 80 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณไรแดงในบ่อให้เพิ่มมากขึ้นก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง 1-2 วัน
การจัดจำหน่าย
การเลี้ยงปลาดุกบิ้กอุยในบ่อดิน ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนจะได้ปลาที่มีขนาดประมาณ 200-400 กรัม หรือขนาดประมาณ 5-6 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิตประมาณ 10-14 ตัน/ไร่ อัตราการรอดตายประมาณ 40-70 เปอร์เซนต์ การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์อาจเสียเวลาเลี้ยงนานกว่านี้ แต่อัตราการรอดตายสูงกว่าคือประมาณ 80 เปอร์เซนต์ และเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน
ที่มา:สุภาพร สุกสีเหลือง