
นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จาก 18 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีษะเกษ ฯลฯ ร่วม 100 คน จาก 1,500 คน ที่รอบริเวณหน้ากระทรวงฯ เข้าพบว่า
เกษตรกรได้มาขอบคุณที่กระทรวงฯได้เร่งดำเนินโครงการโคขุนสร้างรายได้ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการที่เตรียมนำเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้ โดยโครงการโคขุนสร้างรายได้ มีเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2563-2567) เพื่อเสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงโคขุน เพื่อเพิ่มผลผลิตโคเนื้อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านตัวต่อเกษตรกร 200,000 ราย แบ่งออกเป็นรอบที่ 1 จำนวน 500,000 ตัว ต่อเกษตรกร 100,000 ราย และรอบที่ 2 อีก 500,000 ตัว ต่อเกษตรกร 100,000 ราย โดยมีน้ำหนักวัวเริ่มต้น 230-250 กิโลกรัม (กก.) ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยง จะมีเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) รายละ 164,200 บาทต่อราย เป็นค่าโค 120,000 บาท โดยคิดจาก 5 ตัวๆ ละไม่เกิน 24,000 บาท และมีค่าอาหารผสมเสร็จ (TMR) 43,200 บาท และสมทบค่าประกันภัยโค 1,000 บาท
“ธ.ก.ส. จะคิดดอกเบี้ย 4% เกษตรกรจ่ายเอง 1% และรัฐบาลสมทบ 3% อีกทั้งรัฐสนับสนุนค่าประกันภัยให้อีกครึ่งหนึ่ง และช่วยเครื่องผสมอาหาร เครื่องชั่งน้ำหนัก ในสัดส่วนเกษตรกร 100 รายหรือโค 500 ตัวต่อ 1 ชุด เมื่อผ่านไป 4 เดือน สามารถจำหน่ายโคได้ในราคาตัวละ 42,000 บาท เฉลี่ยน้ำหนัก 420 กก. ก.ก.ละ 100 บาท โดยคำนวณแล้วเกษตรกรมีกำไร 8,000 บาทต่อตัว ในเวลา 4 เดือน หรือ 40,252 บาทต่อ 5 ตัว ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการฝึกอบรมการเลี้ยงโคขุนก่อน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ช่วยเหลือขุดน้ำบาดาล 1 จุดต่อ 100 ไร่ เพื่อส่งเสริมปลูกหญ้าสำหรับผสมอาหาร รวมถึง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เข้ามาช่วยทำการตลาดด้วย ซึ่งคาดว่าหลังน้ำลดก็จะเริ่มดำเนินการได้



ที่มา : ไทยรัฐ