“ทำไม ปลาทับทิม และปลานิล ถึงมีแต่ปลาตัวผู้ ?”

ประเด็นเรื่องปลาทับทิม และปลานิล เป็น #หมัน เป็นปลา #ฉายรังสี  เป็นปลา #GMO ทำให้ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ต่อได้ เป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมออน์ไลน์เคยสงสัย แชร์ และส่งต่อมากเป็นอันดับต้น เพราะ ….

ปลาทั้งสองชนิดนี้เป็นปลาที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก เป็นโปรตีนราคาถูก ที่คนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงได้ ตั้งแต่ตลาดสดยันซุปเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ทั่วเมืองไทย

ก่อนที่จะเชื่อไปตามข่าวที่มีการส่งต่อกันมาทางไลน์ หรือเฟสบุ๊ค มาลองดูข้อมูลเพื่อเพิ่มความเข้าใจต่อปลาสองชนิดนี้กันดีกว่า …

ความเป็นมาของปลานิล และปลาทับทิมในประเทศไทย : “ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืด และน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน, ยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา  และพระราชทานชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา” ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่าปลาที่ทดลองเลี้ยงเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล ที่มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 ทรงพระราชทานพันธุ์ปลาจำนวนหนึ่งแก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์ และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่างๆ

ต่อมาในปีพ.ศ.2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล เนื่องจากขณะนั้นกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลาเพื่อรักษาสุขภาพมีมากขึ้น แต่ปลาทะเลกลับลดปริมาณลงเรื่อยๆ กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซีพีเอฟ จึงได้เริ่มวาง โครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ด้วยการนำปลานิลจิตรลดาพระราชทาน มาเป็นต้นตระกูลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ตามแนวพระราชดำริ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิล ทั้งจากอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆ
มีลักษณะภายนอกโดดเด่น คือ สีของเกล็ด และตัวปลาที่มีสีขาวอมแดงเรื่อๆ ถึงสีแดงอมชมพู คล้ายทับทิม โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า “ปลาทับทิม”

ทั้งปลานิล และปลาทับทิม ถือได้ว่าเป็นปลาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแก่ประชาชนชาวไทยให้มีแหล่งโปรตีนราคาถูก และยังเป็นการเพิ่มอาชีพแก่เกษตรกรไทยอีกด้วย

เสียงร่ำลือไปเรื่อยว่า ปลานิล ปลาทับทิม ที่เกษตรกรนำมาเลี้ยงเป็นปลาที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานได้ เพราะถูกทำให้เป็นหมัน ไม่สามารถวางไข่ได้
แต่หารู้ไม่ว่า ปลาแทบทุกตัวที่เกษตรกรเลี้ยงเป็น ปลาตัวผู้ แล้วปลาตัวผู้จะมีไข่ และขยายพันธุ์ได้ยังไง ในเมื่อทั้งบ่อเป็นปลาตัวผู้

จากประเด็นที่ว่าทำเกษตรกรไทยจึงนิยมเลี้ยงปลาตัวผู้ ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลไว้ว่า

1. ปลาเพศผู้มีความใหญ่โตและแข็งแรงกว่าเพศเมีย ปลาทับทิมเพศผู้โตเต็มที่อาจได้ขนาดถึง 1-1.2 กิโลกรัมต่อตัว
2. ไม่นิยมเลี้ยงปลาเพศผู้ปนกับเพศเมีย  เพราะธรรมชาติของปลานิล และปลาทับทิมเพศผู้จะผสมพันธุ์ตลอดเวลา
3. ปลาเพศเมียจะมีลักษณะตามธรรมชาติคือ แม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก ทำให้ไม่สามารถกินอาหาร
4. เมื่อปลาตัวเมียออกลูกบ่อย ทำให้เกิดจำนวนลูกปลาแน่นบ่อ ปลาที่เลี้ยงทั้งหมดจะเติบโตได้ไม่เต็มที่

ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องการเลี้ยงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการผลิต และได้ผลตอบแทนที่แน่นอนมากขึ้น  จึงนิยมเลี้ยงแต่ปลาตัวผู้

Cr : Creating Planet News

Leave a Reply