การเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภัย

“การเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสาร” ไม่ใช่คำใหม่ หรือเรื่องใหม่ ปัจจุบันเกษตรกรไทย เลี้ยง หมู เป็ด ไก่ ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ๆอย่างวัว ล้วนใช้ “อาหารสำเร็จรูป” ทั้งสิ้น สารเร่ง สารเสริม ฯลฯ มักมากับอาหารพวกนี้ หากเกษตรกรหันมาเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสาร โตช้ากว่านิดหน่อย แต่ต้นทุนต่ำ … มีหน่วยงานใดหรือองค์กรใด จะซื้อราคาแพงกว่าหรือไม่

หลักการจัดการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์
เป็นการจัดการเลี้ยงสัตว์ที่ปฏิบัติตามหลักการเกษตรอินทรีย์สากล ไม่แยกกิจกรรมการปลูกพืชอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ออกจากกัน สัตว์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์เกษตรในฟาร์ม เป็นระบบการจัดการฟาร์มที่เกื้อกูลกัน เริ่มจากดินที่อุดมสมบูรณ์ ปราศจากการใช้สารเคมีใดๆ ที่ทำลายดินและสิ่งมีชีวิตในดิน ปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์มีหลักการจัดการและเทคนิคที่สำคัญ ดังนี้

1. เป็นระบบการผลิตปศุสัตว์ที่คำนึงถึงความสมดุลของ ดิน พืช สัตว์ ใช้หลักการของความหลากหลายทางชีวภาพ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน เช่นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ พืชและเศษเหลือเป็นอาหารสัตว์ มูลสัตว์เป็นอาหารของพืช และจุลินทรีย์ เป็นต้น มีการจัดการระบบของเสียจากฟาร์ม เช่น ปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์โดยใช้มูลสัตว์ในฟาร์มปรับปรุงดิน หรือจัดการหมุนเวียนบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มนำมาใช้กับพืช

2. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ใดๆและอาหารสัตว์ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. การจัดการฟาร์มที่สมดุลระหว่างการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ให้เกิดความสมดุลระหว่างจำนวนสัตว์และอาหารสัตว์ในฟาร์ม

4. เน้นการเลือกใช้พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสม กับทรัพยากร อากาศ สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เช่น ไก่ เป็ด โค กระบือ แพะพื้นเมือง และพันธุ์สัตว์ที่พัฒนาคัดเลือกสายพันธุ์ในประเทศ เนื่องจากทนทานต่อโรค และกินอาหารสัตว์ในท้องถิ่นได้ดี

5. เน้นการจัดการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่สุขสบายตามธรรมชาติและพฤติกรรมของสัตว์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ให้แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติ โดยดำเนินการ คือ 
     5.1 การจัดระบบสวัสดิภาพสัตว์ จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ความหนาแน่น การระบายอากาศ เช่น เลี้ยงสัตว์แบบปล่อย ให้สัตว์ได้สัมผัส ดิน แสงแดด มีคอก โรงเรือนให้คุ้มแดด ฝน และความร้อนได้ และมีพื้นที่ให้สัตว์ออกกำลัง ลักษณะการจัดการคอกโรงเรือนเป็นไปตามความเหมาะสม โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สอดคล้องกับวัฒนธรรมการปฏิบัติที่ดีต่อสัตว์ ทำให้สัตว์ไม่เครียด มีภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ
     5.2 การจัดการอาหารสัตว์ โดยการจัดสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม พิจารณาปลูกพืชอาหารสัตว์ทางเลือกที่ปลูกง่ายในท้องถิ่น มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น ธัญพืช พืชสกัดน้ำมันที่ไม่ใช้สารเคมี ถั่วต่างๆ ใบมันสำปะหลัง ใบกระถิน สาหร่าย การเบียร์ ส่าเหล้า การหมักชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ การปลูกต้นกล้วย มีประโยชน์ทุกส่วนเป็นทั้งอาหารและยา การเลี้ยงสุกรและไก่ในแปลงหญ้า หาพืชทดแทนการใช้อาหารสำเร็จรูปจากโรงงานเนื่องจากข้าวโพด กากถั่วเหลืองนำเข้ามาจากการตัดต่อพันธุกรรม

6. มีการจัดการป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ ความสะอาด สุขอนามัยของอุปกรณ์และบริเวณเลี้ยงสัตว์ การควบคุมยานพาหนะและคนเข้าออกฟาร์ม การกักสัตว์ใหม่เข้าฟาร์ม หรือเลี้ยงสัตว์ในที่ห่างไกลจากชุมชน เป็นต้น

7. การใช้สมุนไพร นำหมักชีวภาพที่มาจากสารธรรมชาติ เป็นการป้องกันโรคและเสริมสุขภาพ เช่น การใช้ ส่วนผสมของสมุนไพรผง ฟ้าทะลายโจร ไพล ขมิ้นชัน ในอัตรา 0.1-0.2 % ในอาหารไก่ หรือ สุกร สามารถทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโต และป้องกันโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหารในสัตว์ได้ นอกจากนี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สมุนไพรป้องกันและรักษาโรคสัตว์มากมายหลายตำรับ เช่น การถ่ายพยาธิด้วยมะเกลือ หญ้ายาง เป็นต้น

8. เน้นการพึ่งพาตนเองใช้ปัจจัยการผลิตภายในให้มากที่สุด เช่น พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ที่ผลิตได้เอง หรือเครือข่ายที่อยู่ใกล้ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ผสมน้ำให้สัตว์กิน และทำความสะอาดคอก กำจัดกลิ่นในมูลสัตว์

9. เน้นส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของผลิต และกระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภค การผลิตเพื่อการบริโภคตลาดในชุมชนและเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง เป็นการผลิตในขนาดเล็กที่พอเหมาะ สนับสนุนโรงฆ่าขนาดเล็กในชุมชนทีถูกสุขอนามัยทำให้ ลดการขนส่ง การตลาดและการกระจายสินค้าที่ต้องใช้พลังงานสูง เมื่อผลิตได้มากก็สามารถผลิตขายเป็นรายได้ เป็นการลดปัญหาความยากจนในชนบท

10. มีมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์เป็นกรอบนำในการปฏิบัติ โดยผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละตลาด ได้แก่ตลาดระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับประเทศคู่ค้า

11. มีการบันทึกรายละเอียดการปฏิบัติงานในฟาร์มที่ละเอียด รวมทั้งแผนผังฟาร์มโรงเรือน แหล่งน้ำ เพื่อรอการตรวจรับรอง

12. ป้องกันการปนเปื้อนสินค้า เนื้อ นม ไข่ อินทรีย์ที่ออกสู่ตลาด ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิตจนถึงผู้บริโภค จะต้องป้องกันการปนเปื้อนกับสินค้าที่ผลิตในระบบปกติ เช่น แยกการผลิตอาหารสัตว์ การวางวัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป การขนส่ง และการจัดวางจำหน่าย เป็นต้น

ที่มา / http://www .dld.go.th /organic/principle/principle .html

Leave a Reply